การศึกษาไทยในกระแสโลกาภิวัตน์

Published January 25, 2012 by loveenglish5

การศึกษาไทยในกระแสโลกาภิวัตน์

โดย วิษณุ บุญมารัตน์ อาจารย์พิเศษเศรษฐศาสตร์การเมือง มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ชี้ให้เห็นแนวโน้มว่า คนไทยจะต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลาย เป็นสัญญาณเตือนว่าโลกในยุคหน้าจะมีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเกินกว่าจะคาดคิดถึง

สังคมไทยจำเป็นต้องหันมาคิดทบทวนว่า เราพร้อมกับการเผชิญสิ่งที่ท้าทายเหล่านั้นหรือไม่?

สภาพการณ์ที่โลกในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่พุ่งเข้าหาตัวคนไม่อยู่ ณ ที่ใด ทำให้คนต้องคิดและตัดสินใจรวดเร็วขึ้น สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน บทบาทของสื่อสารมวลชนก็เชื่อมโยงคนเข้าหากันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้ปัญหาของโลกเป็นปัญหาของเราด้วย คนทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ร่วมกันในเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมวลมนุษย์โดยทั่วไป

สังคมไทยจำเป็นต้องหันมาคิดทบทวนว่า เราพร้อมกับการเผชิญสิ่งที่ท้าทายเหล่านั้นหรือไม่

สภาพการณ์ที่โลกในยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารที่พุ่งเข้าหาตัวคนไม่อยู่ ณ ที่ใด ทำให้คนต้องคิดและตัดสินใจรวดเร็วขึ้น สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน บทบาทของสื่อสารมวลชนก็เชื่อมโยงคนเข้าหากันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น ทำให้ปัญหาของโลกเป็นปัญหาของเราด้วย คนทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ร่วมกันในเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมวลมนุษย์โดยทั่วไป

สภาพการณ์เหล่านี้ คือ ปัญหาของสังคมไทยและการศึกษาไทยในยุคโลกาภิวัตน์ด้วย คนไทยจะมีความรู้ ความสามารถพื้นฐานเพียงพอกับการดำรงชีวิตที่ดีและมีศักดิ์ศรีในสังคมโลกได้อย่างไร จะมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์เลือกใช้ข้อมูลข่าวสารตัดสินใจถูกต้องในการแก้ปัญหาและก้าวทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกหรือไม่ มนุษย์จะอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมอย่างไร

โดยที่จะเกื้อกูลและไม่ทำลายซึ่งกันและกัน การศึกษาจะนำคนไปสู่ชีวิตที่มีความสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืนได้หรือไม่ และที่สำคัญคือทุกฝ่ายทั้งประเทศและมนุษยชาติ จะเข้มแข็งพร้อมเผชิญกับความก้าวหน้าและการเปลี่ยนแปลงของยุคโลกาภิวัตน์ร่วมกันอย่างไร

ระบบการศึกษาไทยในปัจจุบัน เป็นระบบที่เน้นการเรียนหนังสือตามช่วงอายุและระดับชั้นเป็นหลัก โดยมีโรงเรียน สถาบันการศึกษา และกระทรวงที่จัดการศึกษาเป็นแหล่งอำนาจเดียวในการแบ่งระดับชั้นดังกล่าว ยังมีการแบ่งหน่วยงานรับผิดชอบที่ไม่มีการประสานสัมพันธ์กันเท่าที่ควร ทำให้การศึกษากลายเป็นกระบวนการแยกส่วนจากชีวิตประจำวัน และเป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนต้องทุกข์ทรมานกับการแก่งแย่งแข่งขัน

ยิ่งไปกว่านั้นค่านิยมในประกาศนียบัตรหรือใบปริญญาทำให้การศึกษาไม่ได้เป็นกระบวนการที่ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของคนได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

การศึกษาในลักษณะเช่นนี้ย่อมไม่อาจให้คำตอบว่า คนไทยและสังคมไทยจะก้าวผ่านจากโลกในยุคปัจจุบันเข้าสู่ศตวรรษหน้าได้อย่างไร และสามารถเจริญก้าวหน้าสร้างสรรค์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้หรือไม่

สิ่งที่คนไทยและสังคมไทยต้องการอย่างยิ่ง เพื่อให้สามารถรับมือกับโลกในอนาคตอันท้าทายได้ คือการเรียนรู้ ซึ่งหมายถึงเรียนรู้ที่จะคิด ตั้งรับ และปรับตัว รวมทั้งเรียนรู้ที่จะแสวงหาความรู้เพื่อจัดการกับปัญหาและสถานการณ์ใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเกินกว่าตำราจะไล่ตามทัน ตลอดจนเรียนรู้ที่จะยกระดับการพัฒนาด้านจิตใจและคุณธรรมเป็นหลัก เพื่อสร้างสมดุลกับโลกแห่งความเจริญทางวัตถุในอนาคต การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตจะช่วยให้คนและสังคมสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาตนเองได้อย่างเหมาะสมกับเงื่อนไขและบริบทที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

เนื่องจากการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องมีความสำคัญอย่างยิ่งต่ออนาคตของคนไทยและสังคมไทย ดังนั้น สิ่งแรกที่จำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาไทย คือการปฏิรูปแนวความคิดเกี่ยวกับการศึกษา โดยจะต้องมองว่าการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ช่วงชีวิตของคนแต่ละคนจะต้องสัมพันธ์กับสถาบันทางสังคมมากมาย รวมทั้งสัมพันธ์กับธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ตลอดจนวัฒนธรรมและอารยธรรมที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้น สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนในการกล่อมเกลาและมีอิทธิพลต่อการเรียนรู้ของคน

ดังนั้น สถานศึกษาจึงไม่ใช่ที่เดียวที่เป็นแหล่งการเรียนรู้และต้องตระหนักว่ากระทรวงศึกษาธิการมิใช่ฝ่ายเดียวที่ต้องรับผิดชอบการจัดการศึกษา การศึกษาในยุคโลกาภิวัตน์ต้องเป็นเรื่องของหลายคนหลายสถาบันที่เข้ามาร่วมกันรับผิดชอบ นับตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน สถาบันศาสนา สถานที่ทำงาน สื่อมวลชน จนกระทั่งถึงสถาบันการเมือง

การปฏิรูปแนวความคิดนี้มีความหมายสำคัญยิ่งต่อการปฏิรูปการศึกษาเพราะหมายถึงการที่ทุกฝ่ายจะต้องปฏิรูปบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเกี่ยวกับการศึกษา ซึ่งคนทุกคนให้ภาระหนี้ตกอยู่กับหน่วยงานภาครัฐฝ่ายเดียว

ในขณะที่รัฐเองก็เผชิญปัญหาเฉพาะหน้าระยะสั้น จนไม่มีเวลาและกำลังที่จะทุ่มเทให้กับการพัฒนาคน ซึ่งเป็นการวางรากฐานระยะยาวของประเทศ

ความตื่นตัวของภาคประชาชน ชุมชน องค์กรธุรกิจ และองค์กรเอกชนสาธารณประโยชน์ เป็นเงื่อนไขสำคัญของการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาหากทุกฝ่ายช่วยกันริเริ่มและลงมือปฏิบัติ แรงหนุนจากภาคประชาชน เอกชน และชุมชน จะเป็นพลังผลักดันให้ภาครัฐทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหาร ต้องลุกขึ้นปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแนวความคิดที่ทำอยู่เดิม ด้วยการปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญ จำเป็น และเร่งด่วนเกินกว่าที่เราทุกคนจะทนนิ่งรอคอยเจตนารมณ์ทางการเมืองให้พร้อมสนับสนุนเสียก่อน

พลังของภาคประชาชน ชุมชน และเอกชนเหล่านี้ต่างหากที่จะเป็นแรงผลักดันและเร่งรัดให้เกิดเจตนารมณ์ทางการเมืองเพื่อปฏิรูปการศึกษา

ลักษณะของระบบการศึกษาไทยที่สามารถตอบสนองความต้องการของโลกในศตวรรษหน้าได้นั้น จะต้องเป็นการศึกษาที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยกลุ่มคนหลากหลายกลุ่มที่ริเริ่มสิ่งดีๆ ที่ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน พ่อแม่ คนทำงาน แรงงานทุกระดับ ตลอดจนชุมชนต่างๆ กลุ่มคนในแต่ละจุดเล็กๆ เหล่านี้ จะต้องเชื่อมประสานเป็นเครือข่ายสนับสนุนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

รวมทั้งเชื่อมโยงกับสถานศึกษาที่มีอยู่ด้วย ระบบการศึกษาเพื่ออนาคตต้องไม่เป็นระบบที่รวมศูนย์ความรู้และการบริหารการจัดการ แต่เป็นระบบที่ทุกกลุ่ม ทุกจุดมีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้และเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่สามารถเชื่อมต่อถึงกัน กระจายอยู่ทั่วท้องถิ่นของประเทศโดยไม่มีศูนย์กลางอยู่ที่ใดที่หนึ่งเพียงที่เดียว

 

Leave a comment